中文信息

"เรื่องฝ้าที่คุณควรรู้" ฝ้าคืออะไร ฝ้าเกิดจากอะไร รักษาฝ้ายังไง ?

"เรื่องฝ้าที่คุณควรรู้" ฝ้าคืออะไร ฝ้าเกิดจากอะไร รักษาฝ้ายังไง ?

ฝ้าคืออะไร? เกิดจากอะไร? รักษาแบบไหนดี? เรื่องฝ้าที่คุณควรรู้

ฝ้าคืออะไร 

ฝ้าคืออาการทางผิวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปื้นสีน้ำตาลหรือสีที่เข้มกว่าสีผิวปกติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากบนผิวหน้า  
 
ฝ้ามักพบได้บ่อยในเพศหญิง บางครั้งอาจเห็นว่ามีฝ้ากระขึ้นบนผิวหน้าขณะตั้งครรถ์หรือเวลาใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งจะจางหายไปหลังคลอดบุตรหรือเมื่อหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ผู้หญิงที่มีผิวคล้ำหรือผิวเข้มมีโอกาสเป็นฝ้าได้ง่ายกว่าสีผิวอื่น เมื่อเป็นฝ้า อาจเห็นได้ว่าบนผิวมีปื้นสีแทน สีนำ้ตาล หรือน้ำตาลเทาคล้ายกระ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนผิวหน้า บริเวณแก้ม หน้าผาก คาง หรือใต้จมูก ส่วนฝ้าบนแขน คอ หรือจุดอื่นๆ พบเห็นได้น้อย 

 

ฝ้าใช่มะเร็งผิวหนังหรือเปล่า ฝ้าขึ้นเสี่ยงเป็นมะเร็งไหม 

ฝ้าไม่ใช่มะเร็ง และไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกของมะเร็งผิวหนัง ฝ้าต่างจากมะเร็งตรงที่ฝ้าจะเป็นรอยปื้นบนผิว ไม่ใช่แผลตกสะเก็ดหรือตุ่มนูนเหมือนมะเร็งผิวหนัง 

 

ฝ้ามีกี่แบบ 

1.  ฝ้าแดด 

ฝ้าแดด เป็นผลจากรังสียูวีเอและยูวีบี เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตเหล่านี้เป็นรังสีที่มีความเข้มข้นสูง เป็นรังสีที่มีคลื่นความยาวสูงทำให้ทำลายผิวได้ลึก กระตุ้นการผลิตเม็ดสีภายในผิวหนัง ทำให้ผิวหน้าคล้ำเสีย หน้าหมอง และเกิดเป็นฝ้าแดดได้ 
 

2. ฝ้าเลือด 

ฝ้าเลือดเป็นปื้นสีแดง เกิดจากระบบเลือดลมและฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ หรืออาจจะเกิดจากการใช้ยาบางประเภทอย่างยาเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือยาที่ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยทำงานผิดปกติ 
 

3. ฝ้าตื้น 

ฝ้าตื้นเป็นชนิดฝ้าที่เกิดได้ง่าย มีลักษณะสีน้ำตาลเข้ม เห็นขอบได้ชัด  และรักษาให้จางลงได้ง่าย เพราะฝ้าตื้นเกิดในระดับผิวหนังชั้นนอก 
 

4. ฝ้าลึก 

ฝ้าลึกจะมีสีอ่อน เช่น สีน้ำตาล เทา หรือม่วง เห็นขอบไม่ชัดเจนเนื่องจากอยู่ในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไปทำให้มีความจางมากกว่า เป็นฝ้าที่รักษาให้หายได้ยาก เพราะเกิดในชั้นผิวที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จนเกิดความผิดปกติในระดับผิวหนังแท้ 
 

5. ฝ้าแบบผสม 

เป็นการผสมของฝ้าทั้งสองแบบ ลักษณะจะเป็นสีเข้ม แต่ขอบจาง ต้องรักษาด้วยวิธีหลายแบบรวมกัน 
 
 

ฝ้าเกิดจากอะไร 

1. แสงแดด 

เมื่อผิวเจอแสงแดด จะกระตุ้นให้ร่างกายของเราผลิตเมลานิน (Melalin) นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฝ้าถึงชอบขึ้นบริเวณที่โดนแดดบ่อย เช่น หน้า คอ แขน 
 

2. การตั้งครรถ์ 

ขณะตั้งครรถ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดฝ้า 
 

3. การใช้ยาบางชนิด 

การใช้ยาหรือการรักษาบางชนิดอาจทำให้บางคนเกิดฝ้า เช่น ยากันชัก ยาคุมกำเนิด หรือการรักษาที่ทำให้ผิวไวต่อแสงแดด (เช่น เรตินอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคความดันโลหิตบางชนิด) 
 

4. ความเครียด 

งานวิจัยบางแห่งเผยว่าความเครียดสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้ เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด มากขึ้น ซึ่งเจ้าฮอร์โมนตัวนี้อาจกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้ 
 

5. ไทรอยด์ 

ต่อมไทรอยด์อยู่บริเวณลำคอหน้าต่อหลอดลมบริเวณคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ทำหน้าที่รักษาระดับเมตาบอลิสมของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และน้ำหนัก ถ้าหากต่อมไทรอยด์มีปัญหา อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นฝ้าเพิ่มมากขึ้น ในบางครั้งการรักษาโรคทางต่อมไทรอยด์ก็ช่วยกำจัดฝ้าไปได้เหมือนกัน 
 
 

รักษาฝ้ายังไง? การป้องกันและรักษาฝ้า 

ฝ้าอาจหายไปเองได้ แต่ก็ใช้เวลานานหลายปี ถ้าหากว่าทุกท่านกังวลเกี่ยวกับฝ้าบนผิวหน้าและอยากทำการรักษา แพทย์ผิวหนังแนะนำว่าให้รีลรักษาตั้งแต่ต้นๆจะดีกว่า เพราะยิ่งนานไปก็อาจยิ่งรักษาได้ยาก 
 
 
 

1. การใช้ยาทารักษาฝ้า 

ยาทารักษาฝ้ามีหลายกลุ่ม ส่วนมากจะใช้รักษาฝ้าได้โดยเห็นผลตั้งแต่การใช้ 1-2 เดือนขึ้นไปและเห็นผลได้ชัดเจนหลังการใช้ 6 เดือนขึ้นไป มักเห็นผลกับฝ้าตื้น ถ้าเป็นฝ้าลึกการใช้ยาทารักษาฝ้าอย่างเดียวอาจเห็นผลได้น้อย ยาทารักษาฝ้าแบ่งออกเป็น ยาที่ลดการสร้างเม็ดสี ยาที่ทำลายการสร้างเม็ดสี ซึ่งตัวยาแต่ละประเภทจะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันเช่น อาการระคายเคือง แสบร้อนบริเวณผิวที่ทายา อาจมีการบวม แดง หรือผิวลอกเป็นขุย ดังนั้นยาสำหรับรักษาฝ้าควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด 
 
โดยทั่วไปแล้วสามารถซื้อยาทารักษาฝ้าเองได้ แต่วิธีนี้จะไม่สามารถกำจัดฝ้าไปได้ 100% เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ก็มีโอกาสที่ฝ้าจะกลับมาอีก เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันฝ้าได้อย่างมั่นใจ ควรทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกไปข้างนอก หรือถ้าให้ดีก็ควรทาทุกวันแม้จะอยู่ในบ้านหรือที่ร่มก็ตามค่ะ 
 

2. เลือกใช้ครีมบำรุงที่มีสารช่วยรักษาฝ้า 

อีกตัวเลือกหนึ่งคือเซรั่มรักษาฝ้าหรือครีมบำรุงผิวหน้าที่มีสารไวท์เทนนิ่ง แม้แนวโน้มการเกิดการระคายเคืองผิวค่อนข้างต่ำและเห็นผลช้ากว่ายาสำหรับรักษาฝ้าโดยเฉพาะ แต่ช่วยดูแลผิวเป็นฝ้าได้ในระยะยาวและเป็นการบำรุงผิวไปในตัว
 

3. เลเซอร์รักษาฝ้า กระลึก 

การใช้เลเซอร์เพื่อรักษาฝ้าและกระจะมีความแม่นยำและตรงจุด จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบันเสริมควบคู่กับการรักษาหลัก วิธีนี้อาจมีข้อดีที่ตรงจุด แต่การใช้แสงและเลเซอร์ทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีความไวต่อแสงและห้ามโดนแดดหลังการรักษา หลังการเลเซอร์จึงต้องปกป้องผิวจากแสงแดดเป็นพิเศษ
 

ดูเพิ่มเติม: ก่อนและหลังเลเซอร์รักษาฝ้าและกระที่เฌอร์พราวด์คลินิก

 

4. การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้า (Peeling Agent) 

การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้าคือการใช้สารเคมีลอกผิวเพื่อกำจัดเม็ดสีในชั้นผิวออกไป เป็นวิธีการรักษาที่ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเนื่องจากการลอกชั้นผิวที่ลึกเกินไปอาจทำให้เกิดแผลเป็นถาวรได้ และผิวห้ามโดนแสงแดดหลังการรักษาเพราะผิวจะมีความไวต่อแสง อาจเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าที่เข้มขึ้นและมากขึ้นด้วย 
 
 

วิธีป้องกันฝ้า 

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดฝ้าคือแสงแดด ซึ่งนอกจากผลกระทบในรูปของฝ้า กระ จุดด่างดำ แสงแดดยังส่งผลให้ผิวแก่กว่าวัย เกิดริ้วรอยได้ง่าย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานานสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดฝ้าได้ 
 

2. หลีกเลี่ยงตัวยาที่ส่งผลต่อการเกิดฝ้า 

หากเป็นผู้ที่มีปัญหาผิวเรื่องฝ้าอยู่แล้ว ควรมีการปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาบางประเภทเนื่องจากตัวยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนและทำให้เกิดฝ้ามากขึ้น หรือเข้มกว่าเดิมได้ 
 

3. ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน 

การใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน นอกจากจะเป็นการช่วยป้องกันแสงแดดแล้ว ครีมกันแดดบางตัวยังมีส่วนช่วยในการลดการเกิดฝ้าได้อีกด้วย โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPA และ PA ที่ได้มาตรฐาน สามารถป้องกัน UVA และ UVB ได้ 
 
 
 
 
 
 

อ้างอิง

 
 
 


บทความที่เกี่ยวข้อง